วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อบรมเกษตรกรศุนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการเลี้ยงสัตว์ ปี 2557


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ได้ดำเนินการฝึกอบรมเกษตรกร หลักสูตร"การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"  ผ่านศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของนายคณิน อ้นเจริญ เลขที่ 80 หมู่ที่ 3 ต.ทานตะวัน อ.พาน จ.เชียงราย รวมจำนวน 28 ราย ตามที่ได้รับเป้าหมายจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย วัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ ขยายผลแนวคิดและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานใ้ห้แก่เกษตรกรผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งนายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน กล่าวว่า การฝึกอบรมตามโครงการฯ นี้ จะใช้วิทยากรเกษตรกรเจ้าของศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นวิทยากรหลัก มีเจ้าหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยง สำหรับเทคนิคในการฝึกอบรมได้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นหลัก เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้เทคนิคการฝึกปฏิบัติเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ผลที่ได้รับคือ มีศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นแหล่งศึกษาดูงานแบะอบรมความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ และเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีความรู้ ทักษะในการจัดการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น รวมทั้งนำไปใช้ประโยชน์ในฟาร์มของตนเอง ต่อไป




วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สถานีโทรทัศน์ NBT ช่อง 11 จ.เชียงใหม่ แพร่ภาพธนาคารขี้วัวตำบลดอยงาม


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ช่อง 11 จ.เชียงใหม่ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกอากาศรายการมองเมืองเหนือ ช่วงเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเสนอกิจกรรม"ธนาคารขี้วัว"ของกลุ่มพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อโดยวิธีผสมเทียมตำบลดอยงาม อำเภอพานจังหวัดเชียงราย โดยมีนายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน, นายทวีศักดิ์ นวนด้วง ประธานกลุ่มฯ และนายวีระศักดิ์ ธรรมปัญโญ นายก อบต.ดอยงาม ร่วมเป็นผู้ให้ข้อมูล ซึ่งกลุ่มฯ ได้จัดตั้ง"ธนาคารขี้วัว" ขึ้นวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมมูลโคของสมาชิกมาบริหารจัดการในลักษณะของธนาคาร, เพื่อสร้างนิสัยการออมแก่สมาชิก, เพื่อเป็นกิจกรรมที่ให้สมาชิกได้มาพบปะ แลกเปลี่ยน ปรึกษาหารือเรื่องการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนเพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไขปัญหามลภาวะจากมูล,กลิ่นและแมลงวัว   นอกจากกิจกรรมที่แพร่ภาพไป นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่อำเภอพาน ได้จัดตั้งธนาคารขี้วัวไว้ประจำกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 7 ตำบล ๆ ละ 1 กลุ่ม รวม 7 กลุ่ม โดย สนง.ปศุสัตว์ จ.เชียงราย จะได้ขยายการดำเนินงานให้มากขึ้น ต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการของกลุ่ม ฯ ได้มีส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ได้แก่ อบต.ในพื้นที่, สนง.ปศุสัตว์เขต 5, สนง.ปศุสัตว์ จ.เชียงราย, สนง.ปศุสัตว์ อ.พาน, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์เขต 5 จ.เชียงราย และมูลนิธิ  Hanns Seidel แห่งสาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เป็นต้น












CPF. ภาคเหนือประสานจัดทำเขียงสะอาด


เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 คณะพนักงานจากบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ภาคเหนือ โดยการนำของนายสนธยา บุตรดา ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจภูมิภาค และผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ อบต.เมืองพาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์ อ.พาน ได้ประชุมหารือเพื่อวางแนวทางการดำเนินโครงการสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาด "เขียงสะอาด" ณ ห้องประชุมชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอำเภอพาน ซึ่งทางบริษัท CPF. มีนโยบายจะดำเนินการในพื้นที่ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสถานที่จำหน่ายเนื้อสุกรมีการปฏิบัติอย่างถูกสุขลักษณะในการจำหน่ายเนื้อสุกร, เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตและการจำหน่ายเนื้อสุกร และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับเนื้อสุกรที่สะอาดและปลอดภัย ทั้งนี้นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการประชุมครั้งนี้ ได้กำหนดให้บูรณาการด้านบุคลากร และงบประมาณร่วมกันทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย อบต.เมืองพาน, บริษัท CPF., ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์ อ.พาน  โดยในปี 2557 นี้ อบต.เมืองพาน ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ "เขียงสะอาด" เป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งกำหนดให้เริ่มดำเนินงานในเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป




Big Cleaning Day ปรับปรุงภูมิทัศน์สำนักงาน


เมื่อวันจันทร์ ที่ ๒๓ มิถุนายน  ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ข้าราชการ พนักงานราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาด BIG CLEANING DAY ณ บริเวณที่ทำการสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ภายในที่ว่าอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความสะอาด และสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มาใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งเดียวกันของพนักงานในสังกัด ตลอดจนเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดสถานที่ปฏิบัติงาน  โดยร่วมกันทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณที่ตั้งสำนักงาน, บำรุงรักษาต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ ตลอดจนพื้นที่โดยรอบสำนักงาน นำโดยนายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน









วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อบรมการปลูกหญ้ารูซี่ แก่แกนนำกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ ธคก.


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ได้จัดอบรมเกษตรกรแกนนำกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อโดยวิธีผสมเทียม ตามโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ (ธคก.) จาก 6 กลุ่มของตำบลม่วงคำ, ตำบลป่าหุ่ง, ตำบลสันกลาง, ตำบลธารทอง ตำบลดอยงาม และตำบลเจริญเมือง รวม 12 คน ณ ห้องประชุมชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอำเภอพาน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปลูกและการจัดการหญ้ารูซี่ ตามที่ได้รับจัดสรรเมล็ดพันธุ์หญ้ารูซี่ จากสถานีพัฒนาอหารสัตว์แพร่ ผ่านทางสำนักงานปศุสัตว์เชียงราย ตามโครงการจัดตั้งหมู่บ้านหลักถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอาหารสัตว์ ประเภทเกษตรกรเครือข่าย ประจำปี 2557 ทั้งนี้ นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมเป็นวิทยากร โดยนายนพดล พินิจ กล่าวว่า อำเภอพานได้จัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อและกระบือ ตามโครงการ ธคก. ซึ่งมีการจัดการเลี้ยงดูแบบประณีต เน้นการผสมเทียมเพื่อปรับปรุงพันธุ์ และส่งเสริมให้มีการจัดการแปลงหญ้าคุณภาพ ได้แก่พันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 และพันธุ์รูซี่ เป็นต้น ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 177 ราย จำนวนโครวม 457 ตัว กระบือ 87 ตัว ซึ่งหลังจากอบรมครั้งนี้ เกษตรกรแกนนำทั้ง 12 ราย จักได้นำเอาความรู้ที่ได้รับนำกลับไปเผยแพร่และขยายผลและจัดทำแปลงหญ้ารูซี่ของตนเองและเพื่อนสมาชิกภายในแต่ละกลุ่มทั้ง 6 กลุ่ม ต่อไป





วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบโคนม


เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัด ได้จัดประชุมติดตามการดำเนินการโครงการพัฒนาระบบโคนม แก่เกษตรกรผู้เข้าโครงการตามเป้าหมายที่ได้รับจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย รวม 6 ราย ณ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน จากทั้ง 2 กิจกรรมของโครงการ ได้แก่ กิจกรรมบันทึกประสิทธิภาพการจัดการฟาร์โคนม จำนวน 5 ราย/ฟาร์ม และกิจกรรมจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิต จำนวน 1 ราย/แห่ง วัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อจักได้ทราบผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะ คำแนะนำต่างๆ จากเกษตรกร และเพื่อชี้แจงแผนการดำเนินงานที่จะดำเนินการให้ทราบ โดยในวันนี้ยังได้ทำการมอบวัสดุสนับสนุนฟาร์มโคนมสาธิตและวัสดุพัฒนาฟาร์มแก่เกษตรผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 6 รายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ นายนพดล พินิจ กล่าวว่า ได้คัดเลือก"คำสมุทรฟาร์ม" เป็นฟาร์มโคนมสาธิต (Demonstration Farm)  โดยเป็นฟาร์มที่ประสบความสำเร็จและมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งมีรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการฟาร์มโคนมของพื้นที่ สามารถเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายอื่นๆ ได้  สำหรับกิจกรรมบันทึกประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มฯ นั้น ได้กำหนดแผนตรวจเยี่ยมการจัดการฟาร์ม เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรจดบันทึกการจัดการฟาร์ม วัตถุประสงค์เพื่อใช้ข้อมูลในการพัฒนา แก้ไขปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร ต่อไป





ติดตามตรวจสอบทะเบียนสัตว์ ธคก. ต.สันกลาง งวดที่ 2/57 (มิ.ย.57)


เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน พร้อมด้วยนายชัยนาม คำปาวีระ เจ้าพนักงานสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ได้ออกไปประชุมและตรวจสอบติดตามทะเบียนสัตว์ โครงการธนาคารโค - กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ประจำปี 2557 งวดที่ 2 ของเกษตรกรกลุ่มพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อโดยวิธีผสมเทียมตำบลสันกลาง   ตามที่สำนักงานได้ให้บริการเกษตรกรที่ยากจนยืมโค-กระบือ ไว้เพิ่มผลผลิตและเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ณ วัดพื้นเมือง บ้านป่าเปา หมู่ที่ 11 ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย โดยนายนพดล พินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานฯ ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งจะเน้นการพัฒนาการเลี้ยงโคแบบประณีตและปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม เป็นอีก 1 ใน 7 กลุ่มที่ทำการส่งเสริมฯ ปัจจุบัน กลุ่มนี้มีสมาชิกรวม 26 ราย จากการตรวจสอบทะเบียนครั้งนี้ พบว่า มีผลการดำเนินงานสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการเป็นที่น่าพอใจ โดยแม่โคที่สมาชิกยืมจากโครงการทั้ง 26 ตัว สามารถให้ลูกตัวแรก 21 ตัว ส่วนที่เหลือได้ตั้งท้องทั้งหมดแล้ว และยังมีแม่โคที่สามารถให้ลูกตัวที่ 2  อีก 12 ตัวอีกด้วย






ติดตามตรวจสอบทะเบียนสัตว์ ธคก. ต.ป่าหุ่ง งวดที่2/2557 (มิ.ย.2557)


เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน พร้อมด้วยนายชัยนาม คำปาวีระ เจ้าพนักงานสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ได้ออกไปประชุมและตรวจสอบติดตามทะเบียนสัตว์ โครงการธนาคารโค - กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ประจำปี 2557 งวดที่ 2  ตามที่สำนักงานได้ดำเนินงาน เพื่อบริการให้เกษตรกรที่ยากจนยืมโค-กระบือ ไว้เพิ่มผลผลิตและเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ณ กลุ่มพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อโดยวิธีผสมเทียมตำบลป่าหุ่ง หมู่ที่ 9 ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย โดยนายนพดล พินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานฯ ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งจะเน้นการพัฒนาการเลี้ยงโคแบบประณีตและปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม เป็น 1 ใน 7 กลุ่มที่ทำการส่งเสริม ปัจจุบัน กลุ่มนี้มีสมาชิกรวม 17 ราย จากการตรวจสอบทะเบียนครั้งนี้ พบว่า มีผลการดำเนินงานสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการเป็นที่น่าพอใจ โดยแม่โคที่สมาชิกยืมจากโครงการทั้ง 17 ตัว สามารถให้ลูกตัวแรก14 ตัว ส่วนที่เหลือได้ตั้งท้องทั้งหมดแล้ว และยังมีแม่โคที่สามารถให้ลูกตัวที่ 2  อีก 3 ตัวด้วย นอกจากนี้กลุ่มยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ จาก อบต.ป่าหุ่ง ทุกปี ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งในปี 2557 นี้ อบต.ป่าหุ่ง ได้สนับสนุนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มฯ เพื่อนำไปปรับปรุงที่ทำการกลุ่มและจัดทำแปลงหญ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มอีกด้วย





วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เก็บตัวอย่าง Cloacal Swab เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มมาตรฐาน (มิ.ย.2557)


เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน ได้มอบหมายให้นายสมเกียรติ จอมแก้ว สัตวบาลพนักงานราชการ นำปศุสัตว์ตำบล (อัตราจ้างเหมางบประมาณกรมปศุสัตว์) จำนวน 2 คน ของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ออกปฏิบัติงานเก็บตัวอย่าง cloacal swab ในสัตว์ปีก ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ ที่ให้มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่มีลักษณะการเลี้ยงเป็นฟาร์ม หรือที่มีระบบการป้องกันโรค ฯ ปีละ 2 ครั้ง โดยการสุ่มตรวจทุก 6 เดือน โดยนายนพดล  พินิจ กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอพาน มีเป้าหมายฟาร์มสัตว์ปีกที่จะต้องดำเนินการ ฯ ครั้งนี้ เป็นฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานทั้งหมดจำนวน 12 ฟาร์ม แยกเป็นชนิดไก่เนื้อ จำนวน 9 ฟาร์ม /จำนวน 218,000 ตัว และชนิดไก่ไข่ จำนวน  3 ฟาร์ม /จำนวน 110,000 ตัว






รณรงค์ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในถิ่นทุรกันดาร หมู่ 7,8 ต.ป่าหุ่ง


ระหว่างวันที่ 10 - 11มิถุนายน 2557 นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน ได้มอบหมายให้นายกรวิช คำปาวีระ ปศุสัตว์ตำบลป่าหุ่ง (อัตราจ้างเหมาของกรมปศุสัตว์ ปี 2557) ออกปฏิบัติงานรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โครงการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2557 ร่วมกับอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน ตามที่ อบต.ป่าหุ่ง ได้สนับสนุนเงินงบประมาณจัดซื้อวัคซีนฯ ให้แต่ละหมู่บ้าน รวม 17 หมู่บ้าน ซึ่งนายนพดล พินิจ กล่าวว่า การดำเนินฯ ในครั้งนี้ หมู่บ้านเป้าหมายคือ หมู่ที่ 7 บ้านงิ้วเฒ่า และหมู่ที่  8 บ้านผาวี ตำบลป่าหุ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลตัวอำเภอ และเป็นหมู่บ้านที่ทุรกันดาร   ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ ได้อย่างทั่วถึง สะดวก  และรวดเร็ว ดังนั้น จึงได้นำบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมอาสาปศุสัตว์ปรัจำหมู่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ผลการดำเนินงาน ฉีดวัคซีนฯ สุนัข รวม 125 ตัว, แมว 54 ตัว  ฉีดยาคุมกำเนิดในสุนัขเพศเมีย  56 ตัว, แมว 36 ตัว







วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประชุมซักซ้อมการดำเนินงานฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยรอบที่ 2/2557 และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงประจำปี 2557


เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ได้จัดประชุมอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน จำนวน 86 คนจาก 86 หมู่บ้าน/15 ตำบลของอำเภอพาน ตามโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยรอบที่ 2 และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงประจำปีงบประมาณ 2557  ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอพาน เพื่อซักซ้อมการดำเนินการ และให้ความรู้แก่อาสาฯ เกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยและการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง โดยจะทำได้ดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน -  กรกฎาคม 2557 ซึ่งนายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน ได้กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญที่ได้ชี้แจงให้อาสาปศุสัตว์ผู้ปฏิบัติงานต้องเข็มงวด ได้แก่ การฉีดวัคซีนฯ กระตุ้นซ้ำ (Booster) ในลูกสัตว์เข็มแรก, การเร่งฝึกอบรมให้ผู้เลี้ยงสัตว์ฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเอง ในกรณีสัตว์ตั้งท้อง บังคับยาก ฝูงสัตว์ไล่ต้อน หรือสัตว์ปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติในป่าเขา เนื่องจากเพื่อลดความตื่นของสัตว์ และฉีดวัคซีนได้ครอบคุมทั้งฝูง นอกจากนี้ จนท.สนง.ปศุสัตว์อำเภอพาน ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการผสมยาฆ่าเชื้อโรคในอัตราส่วนและการพ่นยาฆ่าเชื้อให้เปียกชุ่มในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นต้น





วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานธนาคารโค-กระบือฯ ตามนโยบายของปศุสัตว์เขต 5


เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน ได้จัดประชุมเกษตรกรโครงการธนาคารโค -   กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ของอำเภอพาน ณ ห้องประชุมชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอำเภอพาน  เพื่อซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน โครงการธนาคารโค -  กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ พ.ศ. 2557 ของสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ที่กำหนดให้นำลูกโคหรือกระบือเพศเมียตัวที่ 1 อายุครบ 18 เดือน ขยายผลให้เกษตรรายใหม่ภายในกลุ่ม และ/หรือกรณีที่ลูกโคหรือกระบือเป็นเพศผู้ ตัวที่ 1 อายุครบ 18 เดือน ให้นำไปให้กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโคหรือกระบือยืมไปเป็นพ่อพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์ ต่อไป ซึ่งนายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน กล่าวว่า อำเภอพาน มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและได้รับยืมแม่โค-กระบือจากกรมปศุสัตว์ในปัจจุบัน รวม 178 ราย โดยในวันนี้ เป็นการประชุมฯ เกษตรกร จำนวน 27 ราย ที่ต้องส่งคืนลูกสัตว์ตัวที่ 1 ที่มีอายุครบ 18 เดือน แก่โครงการฯ เพื่อปฏิบัติตามแนวทางที่ปศุสัตว์เขต 5 กำหนดไว้ 





วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พิจารณาแผนพัฒนา 3 ปี (2558-2560) อบต.สันติสุข


เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์อำเภอพาน ได้มอบหมายให้นายเกรียงไกร สิทธิขันแก้ว จพง.สัตวบาลชำนาญงาน เข้าประชุมพิจารณาร่างแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2558- 2560) และร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา (พ.ศ.2557- 2561) ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบลสันติสุข ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเสนอปัญหาและความต้องการ ตลอดจนกำหนดแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองผ่านกระบวนการประชาคม และเพื่อให้ อบต.สันติสุข มีข้อมูลความต้องการของประชาชนมาวิเคราะห์จัดทำแผนงาน โครงการๆ บรรจุในแผนพัฒนาสามปีอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นายนพดล พินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในปัจจุบัน สนง.ปศุสัตว์อำเภอได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมปศุสัตว์ น้อยถึงน้อยมาก จึงไม่เพียงพอที่จะดำเนินงานกิจกรรมด้านปศุสัตว์ในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาแหล่งงบประมาณอื่น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พื้นที่ ในปีงบประมาณ 2557 สนง.ปศุสัตว์อำเภอพาน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินงานด้านปศุสัตว์จาก 13 อปท. รวมเป็นเงิน 441,500  บาท ซึ่งในปี 2558 ได้จัดทำโครงการเสนอขอฯ ให้ครบทั้งหมด 16 อปท.พื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณาทั้งหมด สำหรับ อบต.สันติสุข ได้สนับสนุนงบประมาณแก่ สนง.ฯ มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 ในปี 2558-2560 ได้บรรจุโครงการด้านปศุสัตว์เข้าแผนฯ จำนวน 2 โครงการ เป็นเงินปีละ 78,130 บาท และนอกจากนี้ยังบรรจุโครงการอุดหนุนหน่วยงานแก่ สนง.ปศุสัตว์อำเภอพาน ตามอำนาจหน้าที่ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในวงเงินงบประมาณร่วมกันปีละ 500,000 บาท อีกด้วย